วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้จักกับยามาลาไคกรีนกัน

เราอาจจะเคยได้ยินว่ามาลาไคท์กรีนนี้เป็นสารราคาถูก คำว่าราคาถูกไม่ได้หมายถึงถูกในความคิดเรานะครับ ถูกนี่หลายถึงเขาเปรียบเทียบกับสารที่ใช้รักษาโรคลักษณะเดียวกันกับมาลาไคท์กรีนในสัตว์น้ำครับ ดังนั้นการใช้มาลาไคท์กรีนอย่างฟุ่มเฟือย นอกจากจะไม่ดีต่อปลา และสุขภาพของเรา และสิ่งแวดล้อมแล้วยังเปลืองเงินอีกด้วยครับ อยากบอกว่าระวังหน่อยครับ มาลาไคท์กรีนมันเป็นสารราคาถูกที่ให้ผลในการรักษาเฉพาะโรคได้ดีมากกว่าราคาของมันเสียอีกแต่ว่า มันเป็นสารก่อมะเร็ง ยังไม่ต้องตกใจครับ มันมีวิธีใช้ และวิธีหลีกเลี่ยงง่าย ๆ จริง ๆ แล้วมาลาไคท์กรีนยังมีอีกหลาย ๆ ชื่อที่ใช้เรียกกัน เช่น วิคตอเรีย กรีน บี (Victoria green B.), นิววิคตอเรียกรีนเอ็กซ์ตร้า โอ วัน (new Victoria extra O 1), ไดมอนค์กรีน บี (diamond green B.), โซลิด กรีน โอ (solid green O) หรือไลท์กรีน เอ็น (light green N) และอีกหลาย ๆ ชื่อแต่ไม่สำคัญเพราะยังไงมันก็ถูกเรียกอย่างแพร่หลายว่ามาลาไคท์กรีน ซึ่งมันก็คือสีย้อมผ้าดี ๆ นี่เอง ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อมผ้า หนัง กระดาษ แต่ที่เราใช้ในการรักษาปลาป่วยนั้นเป็นอีกเกรดหนึ่ง เกรดสำหรับอุตสากหรรมจะมีการปนเปื้อนของทองแดง (Copper) และสังกะสี (Zinc) อยู่มากเมื่อนำมาใช้ในการรักษาปลาจะมีผลข้างเคียงของสารสูง จึงได้มีการดึงเอาทั้งสังกะสี และทองแดงออกในขั้นตอนการผลิตให้ได้เกรดสำหรับใช้ในทางชีววิทยา แต่สีย้อมผ้าไม่ทุกชนิดหรอกครับที่มีคุณสมบัติรักษาโรคปลาไม่ตายหนะ บางชนิดก็รักษาไม่ได้ด้วยซ้ำ มาลาไคท์กรีนนอกจากจะใช้รักษาปลาแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพยังใช้ในการย้อมเซลล์สิ่งมีชีวิตได้ดีมาก ทำให้เห็นโครงสร้างภายในเซลล์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะมันติดเซลล์ดีอย่างนี้นี่เอง เวลาที่เราเผลอให้มันหยดบนตัวเราจึงติดทนนานไปหลายวันเลย (อันตรายนะครับ ไม่จำเป็นอย่าใช้ดีกว่า) ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศไม่อนุญาติให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว และในหลาย ๆ ประเทศยังแค่ห้ามใช้ในสัตว์น้ำที่เลี้ยงเพื่อรับประทาน เนื่องด้วยมันสามารถตกค้างในตัวสัตว์น้ำ และอาจจะถ่ายทอดมาสู่คนได้ สำหรับประเทศไทยก็ห้ามใช้กับปลาที่เลี้ยงเพื่อบริโภคเช่นกัน แต่ในธุรกิจการเพาะฟักลูกปลาก็ยังเห็นใช้กันอยู่ ไม่ทราบว่ากฏหมายได้รวมถึงตรงนี้หรือไม่ น่าจะมีคนออกมายืนยันผลการวิจัยในการเรื่องนี้ เพราะมันเกี่ยวโยงถึงสุขภาพคนไทยโดยตรง มาลาไคท์กรีนยังเป็นสารที่ทำให้เกิดความผิดปกติแรกเกิด (teratogenic effect) หรือจะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งในร่างกายสิ่งมีชีวิตนั่นเอง การที่เราใช้มาลาไคท์กรีนก็ควรระวังในการสัมผัสกับสารไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ก่อนการใช้ก็ควรที่จะใส่ถุงมือยางที่ใช้ทำความสะอาดห้องน้ำสีส้มๆ นั่นแหละครับ หนาดีป้องกันได้แน่นอน สำหรับการนำมาใช้ในการรักษาโรคปลาโดยมากจะนิยมใช้กันอยู่ที่ระดับ 0.1 - 0.15 ppm (0.1 - 0.15 ส่วนในล้านส่วน) แล้วแช่กันไปตลอด อาจจะมีการนำฟอร์มาลินมาใช้ร่วมเข้าไปด้วยอีก 30 - 50 ppm (30 - 50 ส่วนในล้านส่วน : 3 - 5 cc. ต่อน้ำ 100 ลิตร) เพื่อใช้กำจัดโรคจุดขาว ซึ่งการใช้ฟอร์มาลินร่วมด้วยนี้ให้ผลดีมากในการรักษาโรคจุดขาว มากกว่าการใช้มาลาไคท์กรีนอย่างเดียวเสียอีก และมีพิษต่ำกว่าโดสที่ใช้มาลาไคท์กรีนอย่างเดียว ในการรักษาจุดขาว เพราะหากใช้มาลาไคท์กรีนอย่างเดียวจะต้องใช้ถึง 1 - 3 ppm (1 - 3 ส่วนในล้านส่วน) หรือ 10 - 20 เท่าเชียวนะครับ สมมุติว่าจากเดิมเราใส่แค่ 1 ฝา แต่นี้เราต้องเพิ่มเป็น 10 ฝาแทน แต่มาลาไคท์กรีนที่เป็นรูปสารละลายใส่มาในขวดขายกันทั่วไปตามร้านขายปลานั้น ไม่ต้องคำนวณอะไรให้ปวดหัว ใส่ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ก็เท่ากับ 0.1 - 0.15 ppm อยู่แล้ว ส่วนฟอร์มาลินก็ใส่ในอัตราส่วน 3 - 5 cc. ต่อน้ำ 100 ลิตร ผสมให้เข้ากัน แล้วแช่ไว้อย่างน้อย 1 วัน แต่ไม่ควรเกิน 2 วัน จึงย้ายปลากลับไปเลี้ยงในน้ำสะอาดอีกครั้ง และควรทำซ้ำอีก 2 ครั้ง โดยรักษา 1 วัน เว้น 2 วัน ข้อควรระวังในการใช้รักษานั่นคือ อย่าใส่มาลาไคท์กรีนต่ำ หรือสูงเกินกว่าที่บอกไว้ เพราะถ้าต่ำไปเชื้อโรคไม่เป็นไรแต่ปลาเราจะเครียดแทน ถ้าใส่มากไปตายทั้งเชื้อโรค และปลา และแม้แต่ใส่ถูกต้องตามที่กำหนด ระหว่างนั้นปลาก็จะเครียดด้วยเหมือนกัน เห็นมั๊ยครับมันใช้ได้ดีแต่มันก็อันตรายเหมือนกัน สำหรับในการรักษาโรคเชื้อราก็ใช้อัตราส่วนเดียวกันนี้ได้แต่อาจจะรักษายากหน่อย เพราะเชื้อรามันทนทานมาก ในปลาบางชนิดการใช้มาลาไคท์กรีนเพื่อรักษาอาจจะเป็นการเสี่ยงเกินไป เพราะปลาเหล่านั้นแพ้มาลาไคท์กรีนอย่างมาก ซึ่งได้แก่ ปลาหนัง และปลาหนวดต่าง ๆ ชัคเกอร์, ปลาดุก, เรดเทล, แคทฟิช, ไทเกอร์ เป็นต้น รวมถึงปลาที่มีวิวัฒนาการต่ำ และปลาที่ต้องการน้ำสะอาดมาก ๆ เช่น ปลาอโรวาน่า, ปลาเสือตอ, ปลาทะเลต่าง ๆ และปลาสวยงามในเขตร้อนจะมีอาการแพ้สารตัวนี้ได้ง่ายกว่าปลาในเขตหนาว หากจะรักษาควรหลีกเลี่ยงใช้สารอย่างอื่น เช่น การใช้เพียงฟอร์มาลิน 50 ppm แช่ 24 ชม. หรือ 100 ppm แช่ 3 ชม. โดยให้อากาศเพิ่มตลอดเวลา แต่ก็ต้องระวังในการใช้ให้ดี นอกนั้นยังมีสารอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่ควรถามกับสัตวแพทย์จะดีกว่า

อาการแพ้สารมาลาไคท์กรีน
มาลาไคท์กรีนจะออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ชนิดหนึ่งในการหายใจระดับเซลล์ (respiratory enzyme) โดยเป็นพิษอย่างถาวรไม่สามารถทำให้หายจากพิษได้ เพราะเอนไซม์ได้เสียรูปไปแล้ว แถมยังทำลายแหล่งสร้างพลังงานในเซลล์อย่างไมโตคอนเดรียอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แรกสุดปลาที่แพ้จะเกิดอาการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leucopenia) ชั่วคราว ต่อมาอดรีนาลีนจะลดลง และปลาจะเป็นโรคเครียดไม่มีสาเหตุ (non - specific stress syndrome) ทำให้ปลาตายง่ายขึ้น เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกสารเคมีในปริมาณต่ำ ๆ ถูกกัด ตกใจ เป็นต้น อาการภายนอกที่สามารถเห็นได้คือเมื่อปลาเริ่มแพ้จะมีการหายใจต่ำลง นอนนิ่ง หรือลอยตัวนิ่ง ๆ สีตัวเปลี่ยน กระจกตาขุ่นขาว เป็นฝ้า เกิดรอยด่างที่บริเวณซี่เหงือก เบื่ออาหาร ตกใจง่าย ซึม และเมื่อกลับมาเลี้ยงในน้ำสะอาดแล้วก็ยังขึ้โรค ทั้งนี้เกิดขึ้นจากอาการระคายเคืองในตัวสารเคมี อาการแพ้นี้หากปลาเป็นแล้วจะหายยาก เป็นไปอีกนานเลย การเลี้ยง และพยาบาลจึงต้องเลี้ยงด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาหารที่ให้ควรเสริมวิตามินให้อย่างสม่ำเสมอ ข้อควรจำ มาลาไคท์กรีนเป็นสารที่สามารถตกค้างในตัวปลาได้เป็นเวลานาน และสามารถสะสมอยู่ในตัวปลาได้ ดังนั้นแม้จะใส่มาลาไคกรีนท์เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้ปลาตายได้จากการสะสมดังกล่าว มาลาไคท์กรีนจะเปลี่ยนเป็นสีใสได้เมื่อน้ำมีความเป็นด่าง (PH สูงขึ้น) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้พิษของมันลดลง หากแต่เข้าสู้เซลล์ได้เหมือนปกติ และมาลาไคท์กรีนยังทำลายแบคทีเรียได้ด้วย แม้จะทำลายได้ไม่ดีนักก็ตาม แต่การใส่ในตู้ปลาที่มีระบบกรองชีวภาพก็ทำให้ระบบเสียหายไปได้พอสมควร แต่หากถ่ายน้ำออกไปให้มากที่สุดแบคทีเรียในระบบกรองจะสามารถกลับคืนมาได้เอง การใช้มาลาไคท์กรีนในตู้ที่มีแสงสว่างมาก ๆ หรือมีการให้อากาศสูง ๆ อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของมาลาไคท์กรีนลดลงได้ สำหรับท่านที่ชอบใช้น้ำที่ถ่ายทิ้งจากตู้ปลาไปรดต้นไม้ คงต้องงดกิจกรรมดังกล่าวในระหว่างที่มีการใช้มาลาไคท์กรีนเนื่องเพราะจะทำให้ดินเสียสมดุลย์ ต้นไม้อาจจะเป็นโรคขึ้นมาได้ครับ

สำหรับวิธีการใส่มาลาไคท์กรีนก็ควรจะใช้การละลายสารในขันน้ำก่อน แล้วจึงนำไปเทในตู้ให้ทั่วๆ ตู้ เพื่อจะได้ผสมกันเป็นมวลเดียวได้เร็วขึ้นไม่ระคายเคืองปลามากนัก และเมื่อจะต้องรักษา ก็ควรจะนำออกมารักษาในภาชนะอื่นที่มีขนาดเล็กลง หรือลดน้ำในตู้ลงให้ปลาอยู่แบบไม่ลำบากนัก แต่น้ำก็ไม่มากเกินไป เช่น ลดลงครึ่งตู้เพื่อจะได้ใช้ยาน้อยลงด้วย เช่น ตู้ 48 นิ้ว ใช้มาลาไคท์กรีน 3.5 ฝา เราก็ลดน้ำลงเหลือครึ่งนึง ก็ใช้แค่เกือบ ๆ 2 ฝา ขาดเหลือเล็กน้อยไม่เป็นไร เป็นต้น

สุดท้ายแล้วนะครับมาลาไคท์กรีนเป็นสารที่ดีตัวหนึ่ง ใช้รักษาได้ดีทีเดียวแต่ก็มีโทษพอตัว ในการใช้แต่ละครั้งก็ควรระวังทั้งตัวเราเอง และปลา ง่าย ๆ ใส่ถุงมือทุกครั้งที่ใช้สารมาลาไคท์กรีน

1 ความคิดเห็น:

แล้วน้ำมันจะกลับมาใสเหมือนเดิมไหมครับ หลังจากเราใส่ยาลงไปแล้ว

แสดงความคิดเห็น